ข่าวสาร

รถและชนิดของการขนส่งสินค้าอันตราย

การขนส่งสินค้าอันตรายในปัจจุบันนั้นสามารถทำการขนส่งได้ในหลายช่องทาง และมีปริมาณในการขนส่งที่มากขึ้นในทุกๆวัน ตามการขยายตัวของเศษฐกิจ เนื่องด้วยสินค้าอันตรายนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหาร และสินค้าอันตรายยังถูกนำไปใช้ใน ภาคการเกษตร รวมไปถึงการใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของพวกเราในทุกๆวัน โดยสินค้าอันตรายต่างๆนั้น จะทำการขนส่งผ่านช่องทาง การขนส่งทางถนน การขนส่งทางราง การขนส่งทางน้ำหรือทางทะเล และการขนส่งทางอากาศ ซึ่งการขนส่งผ่านช่องทางต่างๆนั้น จะมีข้อกำหนดในการขนส่งที่เฉพาะเจาะจงและมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป แต่ยังคงยึดแกนกลางจากข้อนำแนะในการขนส่งสินค้าอันตรายโดยสหประชาชาติ หรือ UN Recommendations on the Transport of Dangerous Goods อย่างเคร่งครัด

สินค้าอันตรายที่ทำการขนส่งทางถนน นั้นเราจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนน หรือ Agreement Concerning the International Carriage of Dangerous Goods by Road (ADR) โดยการขนส่งสินค้าอันตรายในช่องทางดังกล่าวนั้นสามารถขนส่ง ด้วยรถขนส่งได้ใน 3 รูปแบบ ได้แก่

  • การขนส่งในรูปแบบหีบห่อ
  • การขนส่งในรูปแบบเทกอง
  • การขนส่งในรูปแบบแท็งก์

รูปแบบของรถที่ใช้ขนส่งสินค้าอันตรายในรูปแบบหีบห่อ
รถที่ใช้ขนส่งในรูปแบบหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์สามารถใช้ได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบเปิด แบบปิด แบบมีผ้าใบปิดคลุม หรือในตู้คอนเทนเนอร์

รูปแบบของการขนส่งสินค้าอันตรายในรูปแบบเทกอง
การขนส่งสินค้าอันตรายแบบเทกองใช้สำหรับสินค้าอันตรายในสถานะของแข็ง โดยสามารถขนส่งได้ด้วย รถแบบปิดเท่านั้น

ในการตรวจสอบว่าสินค้าอันตรายสามารถขนส่งแบบเทกองได้หรือไม่ สามารถดูได้จากตารางบัญชีรายชื่อสินค้าอันตรายในบทที่ 3.2 ของ ADR คอลัมน์ที่ 10 โดยต้องมีอักษรคำว่า BK1 หรือ BK2 หรือ BK3

ในช่องของคอลัมน์ดังกล่าวกับหมายเลขสหประชาชาติที่ต้องการตรวจสอบจึงสามารถขนส่งแบบเทกองได้

รูปแบบของการขนส่งสินค้าอันตรายในรูปแบบแท็งก์
การขนส่งวัตถุอันตรายด้วยแท็งก์นั้นประกอบไปด้วยแท็งก์ในรูปแบบต่าง ๆ

  • แท็งก์ไร้ความดัน สำหรับรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง
  • รถแท็งก์ติดตั้งฉนวนแบบสุญญากาศ สำหรับบรรจุก๊าซเหลวอุณหภูมิต่ำ
  • รถติดตั้งภาชนะบรรจุก๊าซแบบแบตเตอรี่
  • แท็งก์ภายใต้ความดัน สำหรับบรรจุ สารเคมี ยางมะตอย หรือก๊าซเหลวภายใต้ความดัน
  • แท็งก์แบบไซโล สำหรับสารที่เป็นผงหรือเป็นเม็ด ๆ
  • รถแท็งก์บรรทุกของเสียทำงานด้วยสุญญากาศ สำหรับของเหลวหรือกากของเสีย

การขนส่งสินค้าอันตรายทางถนนจำเป็นต้องใช้พาหนะสำหรับบรรทุกจากต้นทางไปสู่ปลายทาง ดังนั้นพาหนะที่ใช้ตามข้อกำหนดของ ADR นั้นจะใช้คำว่า “หน่วยขนส่ง” ซึ่งตามประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ป้ายอักษร ภาพและเครื่องหมายของรถบรรทุกวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555 หมายถึง รถบรรทุกหนึ่งคัน หรือรถลากจูงและรถพ่วงที่ต่อพ่วงกัน เป็นต้น