ข่าวสาร

ใบอนุญาตขับรถและหน้าที่ผู้ขับรถขนส่ง

พนักงานขับรถ หรือที่เรามักจะเรียกติดปากกันว่า พขร. เป็นตำแหน่งงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อสถานประกอบการ ที่ดำเดินกิจการประเภทการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งโดยสารหรือจะเป็นการขนส่งสินค้าก็ตาม เนื่องจาก พนักงานขับรถ เป็นผู้ปฏิบัติงานหลักในการดำเนินการขนส่ง โดยมีวัตถุประสงค์ที่ทำการขนส่งจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยที่เราจะต้องมั่นใจได้ว่าในทุกๆเที่ยวของการขนส่งนั้นจะสามารถ เริ่มขึ้นและจบลงได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังต้องสามารถบรรลุเป้าหมายของการขนส่งในแง่ของ ความถูกต้องของสินค้า/ผู้โดยสาร ความถูกต้องของสถานที่ต้นทางและปลายทาง ความตรงต่อเวลาที่ใช้ในการขนส่ง รวมถึงการใช้เส้นทางและความเร็วในการขนส่งตามที่กำหนด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพนักงานขับรถนั้นมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการขนส่งมากน้อยเพียงใด ในบทความครั้งนี้ NET จะขอกล่าวถึง สิ่งพื้นฐานจำเป็นอย่างแรกที่ ผู้ขับรถหรือพนักงานขับรถจะต้องมี และถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของตำแหน่งงานดังกล่าว นั่นคือใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถหรือใบขับขี่ โดยใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มี 4 ชนิด ดังนี้

  1. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถขนส่งชนิดที่ 1 สำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกิน 3,500 กิโลกรัมที่มิได้ขนส่งผู้โดยสารหรือสำหรับขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 20 คน
  2. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถขนส่งชนิดที่ 2 สำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกินกว่า 3,500 กิโลกรัมที่มิได้ขนส่งผู้โดยสารหรือสำหรับขนส่งผู้โดยสารเกินกว่า 20 คน
  3. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถขนส่งชนิดที่ 3 สำหรับรถซึ่งโดยสภาพใช้สำหรับลากจูงรถอื่น หรือล้อเลื่อนที่บรรทุกสิ่งใดๆบนล้อเลื่อนนั้น
  4. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถขนส่งชนิดที่ 4 สำหรับรถที่ใช้ขนส่งวัตถุอันตรายตามประเภทหรือชนิดและลักษณะการบรรทุก

ใบอนุญาตแต่ละชนิดจะสามารถใช้สับเปลี่ยนกันได้ เช่น ใบอนุญาตขับรถขนส่งชนิดที่ 2 3 และ 4 ใช้แทนใบอนุญาตขับรถขนส่งชนิดที่ 1 ได้ , ใบอนุญาตขับรถขนส่งชนิดที่ 3 และ 4 ใช้แทนใบอนุญาตขับรถขนส่งชนิดที่ 2 ได้, ใบอนุญาตขับรถขนส่งชนิดที่ 4 ใช้แทนใบอนุญาตขับรถขนส่งชนิดที่ 3 ได้เป็นต้น

หน้าที่พนักงานขับรถตามที่กฎหมายกำหนด

  • พนักงานขับรถต้องมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถขนส่งถูกต้องตามชนิดและประเภทของรถที่ตนเองขับและต้องมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถขนส่งอยู่กับตัวขณะปฏิบัติหน้าที่ พนักงานขับรถต้องแต่งกายสะอาดเรียบร้อยในขณะปฏิบัติหน้าที่
  • พนักงานขับรถต้องไม่ขับรถในเวลาที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ
  • พนักงานขับรถต้องไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถ
  • พนักงานขับรถต้องไม่เสพยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถ
  • พนักงานขับรถต้องไม่ขับรถเกินกว่าจำนวนชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด โดยห้ามพนักงานขับรถปฏิบัติหน้าที่ขับรถติดต่อกันเกิน 4 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดพนักงานขับรถต้องได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จากนั้นจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการขับรถติดต่อกันต่อไปได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมง เป็นต้น