ข่าวสาร

TSM กับการการจัดการสุขภาพของพนักงานขับรถ

ภารกิจและหน้าที่ของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง TSM (Transport Safety Manager) ในการจัดการด้านทรัพยากรบุคคล มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการขนส่งอย่างมาก พนักงานขับรถทุกคนจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสุขภาพ โดยผู้ประกอบการขนส่งควรกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพพนักงานขับรถทุกคนเป็นประจำทุกปีทั้งการตรวจความพร้อมด้านร่างกายทั่วไป ตรวจวัดสายตา ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ตรวจหาโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่ หากตรวจพบสัญญาณเตือนหรือพบความไม่ปกติจะได้หาวิธีป้องกันและแก้ไขได้ทันเวลาก่อนที่จะเกิดอาการกำเริบรุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อสมรรถนะการขับรถอันจะเป็นการเพิ่มโอกาสหรือความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะนำมาซึ่งความสูญเสียในหลายด้าน

สุขภาพต่อความปลอดภัย :

  • สายตา ในการขอรับใบอนุญาตขับรถประเภทและชนิดต่าง ๆ กฎหมายกำหนดให้มีการทดสอบสายตา ซึ่งถือเป็นค่าสายตามาตรฐานสำหรับผู้ขับรถ จึงควรมีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าสายตาของคุณตรงตามมาตรฐานตลอดเวลา ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น สายตาก็มักจะเสื่อมลงด้วยเหตุนี้ การตรวจตาเป็นประจำจึงมีความสำคัญต่อความปลอดภัยในการจราจร
  • การรับประทานยา ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลง มักจะเป็นประเภทยาแก้หวัด แก้ไอ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ยาสำหรับอาการคลื่นไส้อาเจียน และยาแก้แพ้บางชนิด เมื่อรับประทานยาเหล่านี้ร่วมกับแอลกอฮอล์จะทำให้ผลข้างเคียงที่เกิดเพิ่ม ทำให้ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลงได้ ทำให้การทำงานของมือและตาสัมพันธ์กันน้อยลง ทำให้การตัดสินใจแย่ลง มีผลทำให้ทักษะในการขับรถลดลง การทำงานของตาและมือลดประสิทธิภาพลดลง ยาเพิ่มความดันโลหิตมีผลทำให้การตัดสินใจแย่ลง ความรวดเร็วในการตอบสนองลดลง
  • การพักผ่อน ความอ่อนล้าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุความง่วงซึมทำให้ความสามารถในการขับรถลดลงเปรียบได้กับอาการเมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลให้การตอบสนองช้าลง ลดความตื่นตัว และการตัดสินใจ
  • การรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารบางชนิดเช่น ข้าวเหนียวหรืออาหารมื้อหนัก ๆ ก็สามารถทำให้เกิดการง่วงซึมได้เช่นกัน สำหรับการขับรถเป็นระยะทางไกล ๆ แล้ว พนักงานขับรถควรเลือกรับประทานอาหารมื้อเบา ๆ เช่น ผักหรือผลไม้เพื่อหลีกเลี่ยงมื้อหนักที่ทำให้อิ่มเกินไป

สมรรถนะและความพร้อมในการขับรถ : พนักงานขับรถควรจะพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงและหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลทำให้ง่วงนอน เช่น ยาแก้แพ้ เป็นต้น โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความพร้อมของร่างกาย เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ มีโรคประจำตัว การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด สายตาสั้น-ยาว อายุมากขึ้น หิวหรืออิ่มเกินไป รวมไปถึงสภาวะทางจิตใจ และอารมณ์ โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจ และอารมณ์ เช่น การมีเรื่องเข้ามารบกวนจิตใจ มีเรื่องให้ต้องคิดมาก มีความกดดันจากหัวหน้างาน มีความเครียดสะสม ปัญหาต่างๆหน้างาน ปัญหาภายในครอบครัว ภาระหนี้สินที่กำลังย่ำแย่ จนส่งผลให้มีอารมณ์โกรธ โมโห ฉุนเฉียว วิตกกังวล หมกมุ่น และฟุ้งซ่าน เป็นต้น

โรคและยาที่มีผลต่อสมรรถนะการขับรถ : ยา หมายถึง สารเคมีใด ๆ ที่ส่งผลต่อกระบวนการทำงานของร่างกายและจิตใจ ยาไม่เพียงแต่ส่งผลต่อทักษะ ด้านร่างกาย เช่น เวลาที่ประสาทใช้ในการตอบสนอง ประสานงาน และควบคุมรถ แต่ยังส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์การรับรู้ การประมวลผลข้อมูล และพฤติกรรมการรับความเสี่ยง กล่าวคือ การใช้ยาในผู้ขับรถจะทำให้สมรรถนะการขับรถลดลงและเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นการใช้ยาที่แพทย์จัดให้บางชนิดอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสมรรถนะการขับขี่ของพนักงานขับรถได้ อาทิเช่น

  1. ยาที่ทำให้ง่วง (ยานอนหลับ)
  2. ยาคลายความซึมเศร้า
  3. ยาคลายเครียด วิตกกังวล
  4. ยาแก้คัดจมูก (รักษาหวัด)
  5. ยาแก้เมารถ
  6. ยาแก้แพ้
  7. ยาแก้ปวด (ที่ไม่ใช่แอสไพริน หรือพาราเซตตามอล)
  8. ยาสำหรับความดันโลหิตสูง ลมบ้าหมู เบาหวาน

ระดับแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อสมรรถนะการขับรถ : ผลของแอลกอฮอล์ที่มีต่อสมรรถนะการขับรถ แอลกอฮอล์เป็นสารออกฤทธิ์กดประสาทและลดสมรรถนะในการขับรถอย่างปลอดภัย เนื่องจาก

  1. ทำให้สมองทำงานช้าลง ส่งผลให้ไม่สามารถตอบสนองสถานการณ์ที่จะต้องตัดสินใจหรือตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว
  2. ลดความสามารถในการประเมินความเร็วและระยะทาง
  3. เพิ่มความมั่นใจในทางลบซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงในการขับรถ
  4. ทำให้เกิดอาการง่วง

หากพนักงานขับรถดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักมาทั้งคืนร่างกายอาจต้องการเวลามากกว่า 18 ชั่วโมง กว่าที่ระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดจะลดลงถึงระดับศูนย์

การตรวจสุขภาพพนักงานขับรถประจำปี : ผู้ประกอบการขนส่งควรกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพพนักงานขับรถทุกคนเป็นประจำทุกปีทั้งการตรวจความพร้อมด้านร่างกายทั่วไป ตรวจวัดสายตา ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ตรวจหาโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่ หากตรวจพบสัญญาณเตือนหรือพบความไม่ปกติจะได้หาวิธีป้องกันและแก้ไขได้ทันเวลาก่อนที่จะเกิดอาการกำเริบรุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อสมรรถนะการขับรถ จากการหารือร่วมกันของกรมการขนส่งทางบกกับแพทย์สภา ได้มีการกำหนดกลุ่มโรคที่เสี่ยงจะเกิดอันตรายในการขับขี่ ดังนี้

  1. โรคลมชัก
  2. เบาหวานร้ายแรง
  3. ความดันโลหิตสูง
  4. ผู้ที่เคยผ่าตัดสมองมาก่อน
  5. โรคหัวใจที่เสี่ยงจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด

ทั้งนี้ข้อมูลผลการตรวจสุขภาพพนักงานขับรถรายบุคคลจะต้องถูกเก็บรักษาเป็นความลับและในกรณีที่ตรวจพบอาการของโรค จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง จำเป็นจะต้องมั่นใจว่าโรคดังกล่าวจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถอย่างปลอดภัย