ข่าวสาร

ระบบการบรรจุสินค้าอันตราย

สินค้าอันตรายนั้นสามารถทำการบรรจุได้ในระบบการบรรจุหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์แบบพิเศษ แท็งก์ หรือตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งในสินค้าอันตรายแต่ละประเภทนั้นก็จะสามารถทำการบรรจุได้ในรูปแบบต่างๆ ตามข้อกำหนดของข้อนำแนะในการขนส่งสินค้าอันตรายโดยสหประชาชาติ หรือ UN Recommendations on the Transport of Dangerous Goods อย่างเคร่งครัด และสำหรับในบางรูปแบบการบรรจุนั้น สามารถที่จะทำการขนส่งได้ในหลายช่องทาง (Multimodal) ซึ่งเราสามารถทำการขนย้าย ตัวบรรจุภัณฑ์ แท็งก์ หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าอันตรายนั้นๆ ข้ามโหมดการขนส่งโดยไม่ต้องทำการสับเปลี่ยนภาชนะบรรจุแต่อย่างใด เช่น การขนส่งสินค้าอันตรายจากทางถนน ไปสู่การขนส่งทางเรือ และสามารถขนย้ายไปทางรางต่อได้ เป็นต้น

โดยในวันนี้ทาง NET จะขอพูดถึงเรื่องระบบการบรรจุสิค้าอันตราย โดยใช้ช่องทางขนส่งสินค้าอันตรายทางถนน ตามข้อกำหนดของ ข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนน หรือ Agreement Concerning the International Carriage of Dangerous Goods by Road (ADR) โดยก่อนที่เราจะไปถึงรูปแบบการบรรจุสินค้าอันตรายนั้น มีสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เราต้องทราบนั้นก็คือเรื่องของ กลุ่มการบรรจุ และระดับความเป็นอันตราย ของสินค้าอันตราย

กลุ่มการบรรจุ – ระดับความเป็นอันตราย
กลุ่มการบรรจุ ซึ่งแสดงในคอลัมน์ 5 ของบัญชีรายชื่อสินค้าอันตราย (DGL) มีความสำคัญมาก เพราะสามารถบ่งชี้ระดับความเป็นอันตรายของสินค้าอันตรายตัวนั้นๆ และมีผลต่อการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์โดยตรง

ซึ่งกลุ่มการบรรจุนั้นไม่ได้มีสำหรับสินค้าอันตรายทุกประเภทจะมีเฉพาะบางประเภทความเป็นอันต รายเท่านั้น โดยกลุ่มการบรรจุจะมีทั้งสิ้น 3 กลุ่มดังต่อไปนี้

  • กลุ่มการบรรจุ I (สารที่มีอันตรายสูง)
  • กลุ่มการบรรจุ II (สารที่มีอันตรายปานกลาง)
  • กลุ่มการบรรจุ III (สารที่มีอันตรายต่ำ)

การบรรจุสินค้าอันตราย

  • การบรรจุในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ :
    บรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งสินค้าอันตรายนั้นจะมีทั้งสิ้น 3 รูปแบบ ได้แก่
    บรรจุภัณฑ์เดี่ยว, บรรจุภัณฑ์ประกอบ และบรรจุภัณฑ์ผสม
  • การบรรจุในรูปแบบพิเศษ :
    บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบนี้จะประกอบด้วย บรรจุภัณฑ์แบบ IBC,
    บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการกอบกู้ หรือใส่บรรจุภัณฑ์ที่ชำรุด (Salvage Packaging),
    การใช้สิ่งห่อหุ้มภายนอก (Overpack) เป็นต้น
  • การบรรจุในรูปแบบแท็งก์ :
    การบรรจุสินค้าอันตรายในแท็งก์ใช้สำหรับการขนส่งในปริมาณมากต่อหน่วยขนส่ง
    ตัวอย่างของการบรรจุในแท็งก์ได้แก่ แท็งก์แบบยึดติดถาวรกับตัวรถ (รถแท็งก์)
    แท็งก์ที่ยึดไม่ติดถาวร (Demountable tank) แท็งก์ที่ยกเคลื่อนย้ายได้ (Portable tank)
    ภาชนะบรรจุก๊าซแบบกลุ่ม (Multiple-Element Gas Cylinders; MEGC)
    แท็งก์คอนเทนเนอร์ (Tank container) และภาชนะบรรจุก๊าซแบบแบตเตอรี่ (Battery
    vehicle) เป็นต้น