ข่าวสาร

หน้าที่และความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าอันตราย ตามข้อกำหนด ADR

การขนส่งสินค้าอันตรายนั้น มีความอันตรายในตัวสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้การขนส่งสินค้าดังกล่าวจึงจำเป็นต้องทำการขนส่งในระบบปิดตามมาตรฐานความปลอดภัย ด้วยความระมัดระวังสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่ารถและหน่วยขนส่งสินค้าอันตรายอยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมใช้งาน ผู้ประกอบการขนส่งและพนักงานขับรถจึงมีหน้าที่ ที่ต้องทำการตรวจสอบระบบต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการขนส่งสินค้าอันตรายตามรายการตรวจสอบที่กำหนดหากพบข้อบกพร่องต้องรีบรายงานให้หน่วยงานก่อนหน้าหรือผู้ทำการส่งสินค้าทราบและแก้ไขก่อนการออกเดินทาง มิเช่นนั้นอาจจะนำมาซึ่งความสูญเสียได้ ซึ่งการขนส่งผ่านช่องทางต่างๆนั้น จะมีข้อกำหนดในการขนส่งที่เฉพาะเจาะจงและมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป แต่ยังคงยึดแกนกลางจากข้อนำแนะในการขนส่งสินค้าอันตรายโดยสหประชาชาติ หรือ UN Recommendations on the Transport of Dangerous Goods อย่างเคร่งครัด

ตามข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนน หรือ Agreement Concerning the International Carriage of Dangerous Goods by Road (ADR) ได้มีการกำหนดเรื่อง หน้าที่และความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าอันตรายไว้เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนถ่าย เคลื่อนย้าย ขนส่งสินค้าอันตราย และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานและใช้ความระมัดระวังในการจัดการเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ระหว่างการขนถ่าย เคลื่อนย้ายขนส่งสินค้าอันตราย

หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการขนส่ง

  • ปฏิบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน พ.ศ. 2558 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง
  • ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าสินค้าอันตรายที่จะส่ง ได้รับอนุญาตให้ทำการขนส่งได้ตาม ADR (ไม่รับขนส่งสินค้าอันตรายที่มีข้อห้ามในการขนส่งทางถนน)
  • มอบเอกสารกำกับการขนส่ง และตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเอกสารกำกับการขนส่งอยู่ในหน่วยขนส่งตลอดระยะเวลาที่ทำการขนส่งสินค้าอันตราย
  • ตรวจสอบให้แน่ชัดว่ารถและสินค้าที่บรรทุกไม่มีการชำรุดของบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะบรรจุที่เห็นได้ชัด ไม่มีการรั่วไหลหรือรอยแตกหรือไม่มีอุปกรณ์ใดขายหายไป เป็นต้น
  • ตรวจสอบให้แน่ชัดว่ารถแท็งก์ยึดติดถาวร รถติดตั้งภาชนะบรรจุก๊าซแบบแบตเตอรี่ แท็งก์ยึดติดไม่ถาวร แท็งก์ที่ยกหรือเคลื่อนย้ายได้ แท็งก์คอนเทนเนอร์ และภาชนะบรรจุก๊าซแบบกลุ่ม (MEGC) ยังไม่ถึงกำหนดวันทำการตรวจสอบทดสอบคุณภาพของถังขนส่งตามมาตรฐานครั้งต่อไป (แท็งก์ต้องไม่ขาดต่ออายุ)
  • ตรวจสอบว่ารถไม่ได้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนด
  • ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าได้ทำการติดฉลากและเครื่องหมายอันตรายถูกต้องตามที่กำหนดไว้ที่ตัวรถแล้ว
  • ตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีอุปกรณ์ที่ระบุไว้ตามเอกสารข้อแนะนำสำหรับพนักงานขับรถติดไปกับรถ

หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถชนิดที่ 4

  • ปฏิบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน พ.ศ. 2558 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของผู้ได้รับอนุญาตขับรถชนิดที่ 4
  • ต้องไม่รับขนสินค้าอันตรายที่หีบห่อชำรุดเสียหาย (ตรวจสอบทุกครั้งก่อนการขนถ่ายสินค้าขึ้นรถ)
  • ต้องมีเอกสารต่างๆ ไปกับรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรับรองการฝึกอบรมของ ADR และบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรที่ทางราชการออกให้โดยต้องมีรูปประกอบด้วย (เพื่อการระบุตัวตัว)
  • ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลและอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ รวมทั้งอุปกรณ์ดับเพลิง
  • ต้องติดแผ่นป้ายสีส้ม ติดฉลาก และทำเครื่องหมายบนหน่วยขนส่ง ตามข้อกำหนด ADR
  • ต้องดับเครื่องยนต์ในระหว่างการบรรจุหรือการถ่ายสินค้าอันตรายจากตัวรถ
  • ห้ามสูบบุหรี่ในระหว่างการขนถ่ายสินค้าอันตรายขึ้นลงจากรถ
  • ต้องเลือกที่จอดรถที่ปลอดภัยที่สุดในการจอดระหว่างทางและไม่ควรทิ้งรถไว้โดยไม่มีผู้ดูแล
  • ในระหว่างการจอดรถต้องมีการตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ และต้องใช้ลิ่มขัดล้อเพื่อป้องกันรถไหลหากจอดเฉพาะรถกึ่งพ่วงไว้
  • ใช้เบรกมือทุกครั้งในระหว่างการจอด (ทั้งส่วนหัวและหางบรรทุก)
  • ต้องศึกษาข้อแนะนำในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน (เอกสาร 4 หน้า) ทุกครั้งก่อนการขนส่ง
  • ห้ามให้ผู้โดยสารอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องโดยสารไปกับรถ ยกเว้นพนักงานประจำรถเท่านั้น
  • ใช้เส้นทางที่กำหนดเท่านั้น และปฏิบัติตามข้อจำกัดเกี่ยวกับการขับรถผ่านอุโมงค์
  • ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องทันทีต้องมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย และหยุดรถทันทีหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับสินค้าที่บรรทุก
  • ต้องมั่นใจว่าไม่บรรทุกน้ำหนักเกินค่าที่อนุญาตสูงสุด และอัตราส่วนการบรรจุสำหรับรถแท็งก์เป็นไปตามที่กำหนดไว้สำหรับสารที่บรรทุก
  • ทำการขนถ่ายสินค้าอันตรายขึ้นรถเฉพาะที่ตรงกับเอกสารกำกับการขนส่งเท่านั้น
  • ทำความสะอาดสิ่งตกค้างของสินค้าก่อนการขนถ่ายขึ้นรถเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
  • ทำการขนถ่ายสินค้าอันตรายออกจากรถให้ผู้รับหรือลูกค้าเฉพาะสามารถทำได้อย่างปลอดภัยเท่านั้น
  • ปฏิบัติตามข้อควรระวังเกี่ยวกับการบรรทุกอาหาร เครื่องดื่มและอาหารสัตว์ไปด้วยกันกับสินค้าอันตราย
  • ทำการผูกยึดบรรจุภัณฑ์สินค้าอันตรายให้มั่นคงแข็งแรง
  • ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในการขนส่งสินค้าอันตรายแบบคละกัน

การตรวจสอบข้างต้นนี้ต้องกระทำตามที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับการขนส่งและเอกสารที่ควบคู่มา โดยการตรวจสอบรถหรือตู้สินค้า/ภาชนะบรรจุ และการบรรทุกด้วยสายตาตามความเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่ารถและหน่วยขนส่งสินค้าอันตรายอยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมใช้งาน โดยให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการขนส่งและพนักงานขับรถขนส่งสินค้าอันตราย